วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552
Happiness VS Unhappiness
ความสุขแท้-เทียม ทุกข์แท้-เทียม
ความสุขไม่มีนิยามความหมายที่จับตั้งได้อย่างแท้จริง เนื่องจากความสุขและความทุกข์เป็นเพียงสภาพหรือสภาวะหนึ่งๆ ในทุกๆ ขณะจิตเท่านั้น การบรรยายถึงความสุขจึงอาจจะแสดงเป็นข่วงยามหนึ่งๆ หรือไม่ก็เป็นการสรุปความสุขที่ผ่านมาในช่วงเวลาสั้นๆ หรืออาจจะเป็นความสุขที่สรุปจากภาพโดยรวมของชีวิตที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับว่าต้องการแสดงระดับความสุขในสถานการณ์ใด
“ความสุขความทุกข์เปลี่ยนแปลงทุกปี ทุกเดือน ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที และทุกวินาที แม้กระทั้งทุกขณะจิตที่จิตคนเราจะแบ่งได้...”
ภาพโดยรวมของมนุษย์แต่ละบุคคลเป็นความสุขสถานใด อยู่ในระดับใด และกำลังขยับไปในทางที่ทุกข์มากกว่าเดิม หรือสุขมากขึ้น และมากไปกว่านั้น นั่นเรากำลังเดินไปในทางสุขแท้ หรือเทียม หรือกำลังจมลงไปสู่ความทุกข์พื้นๆ ทางโลกหรือกำลังดำดิ่งลงไปสู่สภาพทุกข์แท้ที่หนักหนาสาหัส จนสภาวะจิตสามารถถูกทำลายได้อย่างสิ้นเชิง
มีผู้ที่พยายามสร้างสมการความสุขขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายความสุขระดับบุคคล (Cohen 2003) และมีผู้ที่พยายามขีดสเกลของความสุขทุกข์ขึ้นมาเช่นกัน (http://feedproxy.google.com/~r/Spreadinghappinessorg/~3/EhI9ywNBWIM/) อย่างเช่น uneven happiness scale ได้กล่าวว่าความสุขที่เกิดขึ้นสามารถชดเชยความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ 5 เท่า เป็นต้น
สุขเทียม - ทุกข์เทียม
ความสุขทุกข์แบบโลกๆ นั้นมักจะวัดกันด้วยวัตถุ การได้มาเสียไปของวัตถุ ลาภ ยศ สรรเสริญ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจวาสนา ทำให้เกิดความทุกข์ ความสุขขึ้นตลอดเวลา เช่น วันเงินเดือนออก ปลายปีที่ได้โบนัส การได้เลื่อนตำแหน่ง การได้รับอำนาจ และการได้ครอบครองสิ่งที่พึงประสงค์ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นความสุขที่หล่อเลี้ยงด้วยกิเลส เมื่อได้มาก็มีความสุข เมื่อเสียไปก็จะทุกข์ วนเวียนไปมาอยู่อย่างนั้น ผู้ที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยกิเลสมากๆ นานวันเข้าก็จะเกิดความรู้สึกติดยึดกับวัตถุเหล่านั้น และมีอำนาจเพียงพอที่จะดึงดิ่งลงไปสู่สภาวะทุกข์ที่จริงได้
“เป็นความสุข ทุกข์ที่เกิดจาก ความมั่นคงจากภายนอก”
สุขแท้ - ทุกข์แท้
อีกหนึ่งไม้บรรทัดที่แสดงสเกลความสุขทุกข์ ซึ่งอาจเรียกว่า ความสุขทางธรรม คือความสุขที่อยู่ในสภาวะที่เข้าใจในวัตถุทางโลก การสนองความต้องการพื้นฐานด้วยความพอดี ไม่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยกิเลส ความสุข ทุกข์ลักษณะนี้เป็นเรื่องของการยอมรับ เข้าใจ และควบคุมสภาพจิตของตนเองไม่ให้ซัดส่ายไปในทางที่หล่อเลี้ยงด้วยกิเลส เช่น เมื่อเกิดความอยากได้อยากมีก็สามารถควบคุมความอยากได้อยากมีนั้นไว้ได้โดยไม่กระทบถึงสภาวะจิตใจ ทุกข์แท้มักจะเป็นปลายทางของผู้ที่เกิดความทุกข์ทางวัตถุที่ไม่เหลือหนทางเดินต่อ สภาพจิตตกต่ำถึงที่สุด แต่ก็สามารถหมุนเปลี่ยนเป็นสุขแท้ได้โดยการยั้งคิด พลันคิดได้ในสิ่งที่เป็นไปในวัตถุทางโลก และยังสามารถเกิดกับผู้ที่มีความสุขทางวัตถุที่สุดเมื่อคนเหล่านั้นมีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด และสามารถหมุนไปสู่ความสุขแท้ได้ เมื่อคนผู้นั้นสร้างความเข้าใจในความไม่เที่ยงแท้ของวัตถุ
“เป็นความสุข ทุกข์ที่เกิดจาก ความมั่นคงจากภายใน”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น